เตรียมพร้อมเผชิญภัยแล้ง !!! “SUN” ส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวโพดหวาน ใช้น้ำน้อย

กลุ่มข้าวโพดหวาน สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป จัดการประชุมคณะวัตถุดิบข้าวโพดหวานครั้งที่ 2 ณ ห้องประชุมเวียงคำศูนย์ประชุมนานาชาติคุ้มคำและคุ้มขันโตกจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา นายองอาจ กิตติคุณชัย อุปนายกและประธานกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวาน เปิดเผยว่า ได้มีการหารือเกี่ยวกับแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในสภาวะภัยแล้ง ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา ออกมาประกาศถึง ปรากฏการณ์ เอลนีโญ (El NiNo) สภาพอากาศปีนี้จะร้อนยาวนาน โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2562 ประเทศไทยจะมีฝนตกน้อย และปริมาณน้ำฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติ การขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ในการเกษตรทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย กระทบอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรที่ขาดแคลนวัตถุดิบ

ด้านประธานคณะวัตถุดิบข้าวโพดหวาน นางอัมพันธ์ สุริยัง กล่าวว่า บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำโครงการ Smart Farming โดยได้นำเทคโนโลยีมาใช้ทางการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน มีการพัฒนาระบบเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) และ IoT Sensor เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เก็บข้อมูลภาคเกษตรเกี่ยวกับ อุณหภูมิ แสงแดด แรงลม ปริมาณน้ำฝน ความชื้นในอากาศ และเก็บตัวอย่างแมลงศัตรูพืช พร้อมนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนา และเชื่อมโยงเข้าสู่แอพพลิเคชั่น รวมถึงการนำระบบเซ็นเซอร์มาใช้ตรวจวัดค่าปริมาณความชื้นในดิน เพื่อปล่อยน้ำผ่านสัญญาณวิทยุลงไปยังแปลงเกษตรอัตโนมัติ จะสามารถช่วยใช้เกษตรกรสามารถนำข้อมูลมาวางแผนการเพาะปลูก และพร้อมรับมือกับความเสี่ยงจากภัยแล้งได้ทันท่วงที

นายองอาจ กิตติคุณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการทำอาชีพเกษตรกรรม ปัญหาภัยแล้งที่เกิดจากฝน ทิ้งช่วงส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกรที่กำลังเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรอย่างมาก จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเตรียมรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย แนะนำให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดหวาน ซึ่งถือเป็นพืชทางเลือกหนึ่ง เนื่องจากสามารถทนแล้งได้ดี และใช้เงินลงทุนไม่มาก อีกทั้งใช้เวลาปลูกเพียง 70-75 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยปัจจุบันบริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) มีเกษตรกรที่ทำสัญญาแบบ contract farming โดยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดในภาคเหนือตอนบน รวม 60,000 ไร่ ทั้งนี้จะมีการการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าระหว่างฝ่ายเกษตรกรกับบริษัทฯ โดยบริษัทฯจะซื้อผลผลิตคืนจากเกษตรกรในราคาที่ตกลงกัน ถือเป็นการ “ราคาประกัน” เพื่อให้เกษตรกรและครอบครัวสามารถผ่านช่วงวิกฤติภัยแล้ง และเป็นการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ก็ขอให้หน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัยและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันสร้างมาตรการและดำเนินการในเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกร โดยเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยเพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารสถานการณ์น้ำให้เกษตรกรทราบอย่างทั่วถึง และมีการช่วยเหลือเกษตรกรโดยการผลิตฝนเทียม หรือ การเจาะบาดาล เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น