คณะแพทย์ มช. สร้างนวัตกรรมเพื่อคนพิการ คลอดรถยนต์ “MED CMU EV car”

    

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสมาคมการค้าผู้ประกอบการผลิตเครื่องจักรชิ้นส่วนโลหะและอุตสาหกรรมสนับสนุนไทย สร้างนวัตกรรมรถยนต์เพื่อคนพิการ ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่มีชื่อว่า “MED CMU EV car” ภายใต้ทุนวิจัยตามโครงการกิจกรรมขับเคลื่อนผลงานวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 และนำไปแสดงในงาน Thailand Industry Expo 2018 ภายใต้แนวคิด เปลี่ยนเพื่อปรับ “Change to SHIFT” ยกระดับอุตสาหกรรมไทย เพื่อแสดงศักยภาพและผลสำเร็จของการเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ณ อาคารชาแลนเจอร์ 2-3 อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 2-5 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา

คุณณรงค์รัตน์ สวัสติกานนท์ นักกายภาพบำบัดชำนาญการ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้รับผิดชอบโครงการ  เปิดเผยว่า “เนื่องจากคนพิการที่ต้องใช้วีลแชร์ในชีวิตประจำวัน ไม่สามารถออกไปทำงานตามที่ต่าง ๆ ได้ ที่ผ่านมาคนพิการพยายามเรียกร้องให้มีรถบริการสาธารณะที่วีลแชร์เข้าถึงบริการได้ เพื่อไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถให้บริการได้อย่างครอบคลุมทุกสถานที่ที่คนพิการต้องการไป คนพิการจึงพยายามดัดแปลงรถของตนเองเป็นรถจักรยานยนต์แบบสามล้อพ่วงข้าง เพื่อใช้ในการเดินทาง ซึ่งรถประเภทนี้ถือว่าผิดกฎหมายของกรมขนส่งทางบก เนื่องจากเป็นรถดัดแปลง ไม่สามารถที่จะวิ่งบนถนนได้ เพราะฉะนั้น ตนจึงได้ทำนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กสำหรับคนพิการอัมพาตครึ่งท่อน โดยใช้ความรู้ทางวิชาการ ร่วมกับทางกลุ่มอุตสาหกรรมของสมาคมการค้าผู้ประกอบการผลิตเครื่องจักรชิ้นส่วนโลหะและอุตสาหกรรมสนับสนุนไทย และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ที่มีความชำนาญในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์  สร้างต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อคนพิการขึ้น โดยมีบริษัท ANYUAN BUS MANUFACTURE จำกัด ประเทศจีน ร่วมดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าตามที่ตนออกแบบ ให้เหมาะสมกับคนพิการที่จะขับได้ เช่น ใช้ระบบบังคับทิศทาง ระบบส่งกำลัง ระบบเบรค คล้ายกับรถจักรยานยนต์ มีทางลาดขึ้นลงรถ และที่ล็อควีลแชร์ให้ติดกับตัวรถได้อย่างมั่นคงนับว่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อคนพิการคันแรกของประเทศไทย ที่ให้ใช้งานได้จริง ยังช่วยลดการย้ายตัวและยกวีลแชร์ขึ้นลงรถยนต์ ที่มักเป็นสาเหตุให้คนพิการปวดไหล่ด้วย ซึ่งขณะนี้คณะผู้ผลิตกำลังหารือกับกรมการขนส่งทางบกเพื่อขอป้ายทะเบียนรถ เพื่อให้ MED CMU EV car วิ่งบนถนนได้อย่างถูกกฎหมาย และจะมีการพัฒนาต้นแบบต่อไปเพื่อขายเชิงพาณิชย์ในอนาคตอันใกล้นี้”

ด้าน รศ.ดร.พญ.ศิริอนงค์ นามวงศ์พรหม ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. ดูแลด้านการวิจัยเปิดเผยว่า “เพื่อการตอบสนองนโยบายการเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งนวัตกรรมของคณะฯ จึงมีการระดมสมอง และร่วมกันออกแบบแผนงาน โดยมุ้งเน้นในเรื่องของนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สามารถจะตอบโจทย์ให้ผู้ป่วยหรือญาตินำไปใช้งานได้ในชีวิตจริง และมีประโยชน์ด้านเชิงพาณิชย์ โดยมีการจัดตั้งกลุ่มนวัตกรรมเชิงสุขภาพขึ้นมา ซึ่งกลุ่มนี้ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล และผู้ที่มีความสนใจทางด้านนวัตกรรมมารวมกลุ่มกัน คาดว่าในอนาคต เราจะให้ความรู้ จัดอบรม เปิดแสดงผลงานของผู้ที่ทำผลงานสำเร็จเพื่อที่จุดประกาย กระตุ้นให้บุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ มีแรงบันดาลใจที่จะคิดหรืออยากจะสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น