เกษตรจังหวัดปฏิบัติการเกษตรคุณภาพ  ดันเกษตรกรยกระดับปลูกสับปะรด MD2 และ พันธุ์น้ำผึ้งลำปาง มาตรฐานผลผลิตเกรด A ขายขึ้นห้าง และส่งออกสู่ตลาดอินเตอร์

นายธวัชชัย สิทธิวีระกุล เกษตรจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ตามแผนยุทธศาสตร์จังหวัดลำปาง ในการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรปลอดภัยได้มาตรฐานแบบครบวงจร  ทางเกษตรจังหวัดลำปางได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการที่ส่งผลต่อการต่อยอดพัฒนาผลผลิตเกษตรที่มีศักยภาพยกระดับเป็นเกษตรอุตสาหกรรม สามารถนำผลผลิตคุณภาพออกสู่ตลาดที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีต่อเกษตรกรเพิ่มขึ้นทุกประเภท ทั้งพืชผัก และพืชผล ต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผลผลิตเกษตรที่มีศัยภาพทางการตลาดในลำปาง เช่น สับปะรดในพื้นที่อำเภอเมือง  มะม่วง ลำไย องุ่น ที่อำเภอวังเหนือ  เมืองปาน  และผักปลอดภัย รวมถึงผักอินทรีย์ ในทุกอำเภอ ให้สามารถทำคุณภาพส่งขายในกลุ่มธุรกิจที่ส่งขายห้างสรรพสินค้า และช่องทางตลาดที่มีความต้องการซื้อสูง

สำหรับโครงการใหญ่ที่สำคัญขณะนี้คือ การพัฒนาคุณภาพผลผลิตสับปะรด ตามที่ทางจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้ความสนใจในการส่งเสริมพัฒนาอย่างจริงจัง ปัจจุบันลำปางมีพื้นที่ปลูกประมาณ 24,000 กว่าไร่ ผลผลิตภาพรวมทั้งหมด 60,000 กว่าตัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งโรงงาน 80%  บริโภคสดประมาณ 19% แปรรูปประมาณ 1%   ซึ่งเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาคือ เพิ่มยอดรายได้จากการขายสด ลดปริมาณขายเข้าโรงงาน และแปรรูปเพิ่มรายได้

ในส่วนของสำนักงานเกษตรจังหวัดนั้น ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรครบวงจรทุกอำเภอ  สำหรับพืชสับปะรดนั้น ศพก.อำเภอเมือง  เป็นศูนย์ที่ได้รับการยอมรับเป็นระดับ A ซึ่งมีประธานศูนย์เป็นเกษตรกรจิตอาสา   ศึกษาและจัดทำต้นแบบการพัฒนาการปลูกสับปะรดคุณภาพ ตั้งแต่การปรับปรุงดิน เรื่องน้ำของชลประทาน เรื่องระบบการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำชีวภาพ การใช้สารชีวภัณฑ์ เพื่อกำจัดศัตรูพืชของสับปะรด เพื่อให้ได้ผลผลิตตลอดทั้งปีขายได้ราคา ให้เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดสามารถเข้าไปเรียนเหมือนโรงเรียน แล้วนำความรู้ไปพัฒนาในแปลงปลูกของตนเองให้มีประสิทธิภาพ

ขณะนี้มีเกษตรกรตำบลเสด็จ อ.เมืองลำปางจำนวน 120 ราย รวมพื้นที่ปลูกมากกว่า 700กว่าไร่ ร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพการผลิตทุกกระบวนการ นอกจากนี้ยังมี เกษตรกรปลูกสับปะรดอื่นๆนอกพื้นที่โครงการแปลงใหญ่ร่วมในโครงการพัฒนาผลผลิตสับปะรดคุณภาพมาตรฐาน GAP  มีจำนวน 390 ราย รวมพื้นที่เกือบ 5พันไร่ ได้ผลผลิตมาตรฐาน GAP ปีไม่น้อยกว่า 17,000 ตัน และกำลังขยายพื้นที่ทุกปี  และมีแผนส่งเสริมการปลูกสับปะรดพันธุ์ MD2 เพื่อเป้าหมายขายสับปะรดส่งออกญี่ปุ่น ปีละ 400-600 ตู้คอนเทนเนอร์ (40 ตัน)

อย่างไรก็ตาม แผนปฏิบัติการวาระการพัฒนาแก้ปัญหาผลผลิตสับปะรดลำปาง ยังต้องขับเคลื่อนกลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าผลผลิต ยกระดับให้เกษตรกรสามารถปลูกสับปะรดมาตรฐานขายผลสดเพิ่มขึ้นเพื่อลดจำนวนผลผลิตขายเข้าโรงงาน อย่างต่อเนื่อง เป็นการแก้ปัญหาสับปะรดระยะยาว และยั่งยืน

https://drive.google.com/drive/folders/1FpClavRCD8U5yJZseZERbmdE9obqGORA?usp=sharing

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น