เกษตรกร ให้ความสนใจ เข้าร่วมงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชนต้นแบบ จ.น่าน พร้อมลด ละ เลิก การใช้สารเคมี โดยองค์ความรู้จากโครงการหลวง จัดโดย สวพส.

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ร่วมกับ จังหวัดน่าน จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชนต้นแบบ (Field Day) การลด ละ เลิก การใช้สารเคมี โดยองค์ความรู้จากโครงการหลวง ช่วงระหว่างวันที่ 15 – 16 มกราคม 2563 โดยนายวรกิตติ ศรีทิพากร ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน และ ดร.ประชา แสนกลาง นายอำเภอสองแคว จังหวัดน่าน ขึ้นกล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เกษตรกร และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ณ ชุมชนบ้านใหม่ ชุมชนต้นแบบโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวังไผ่ ตำบลนาไร่หลวง อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน

นายวรกิตติ ศรีทิพากร ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า จังหวัดน่าน เป็นพื้นที่ที่มีการทำการเกษตรค่อนข้างมาก การจัดงานโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชนต้นแบบ การลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ด้วยการใช้องค์ความรู้ และกระบวนการเรียนรู้จากโครงการหลวงผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งก่อให้เกิดการดำเนินการระหว่างหน่วยงานและชุมชน ช่วยให้ชุมชนสามารถพัฒนาตัวเอง สร้างรายได้จากการทำการเกษตรปลอดสารพิษและยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ดร.ประชา แสนกลาง นายอำเภอสองแคว จังหวัดน่าน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กิจกรรมวันถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชนต้นแบบ (Field Day) การลด ละ เลิก การใช้สารเคมี โดยใช้องค์ความรู้จากโครงการหลวงเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกร ลด ละเลิก การใช้สารเคมี การลดพื้นที่การปลูกข้าวโพด การเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการปลูกไม้ยืนต้น เน้นการปรับระบบการปลูกพืช ทำให้ชุมชนบนพื้นที่สูงมีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งในวันแรกมีการจัดกิจกรรมเข้าฐานเรียนรู้ จำนวน 10 ฐาน ได้แก่ ฐานที่ 1 องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูง , ฐานที่ 2 ผักปลอดภัย , ฐานที่ 3 การปรับปรุงดินและการผลิตปุ๋ย , ฐานที่ 4 พืชไร่บนพื้นที่สูง , ฐานที่ 5 อุตุนิยมวิทยาเพื่อการพัฒนาบนพื้นที่สูง , ฐานที่ 6 การลดใช้สารเคมีและการใช้สารชีวภัณฑ์เกษตร , ฐานที่ 7 มาตรฐานผลผลิตที่มีคุณภาพ , ฐานที่ 8 ชุมชนต้นแบบการพัฒนาพื้นที่สูง , ฐานที่ 9 ตลาดชุมชน และฐานที่ 10 การปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมศึกษาดูงานภายในแปลงปรับระบบการปลูกพืชจากพืชไร่สู่การทำสวนไม้ผลแบบผสมผสานของผู้นำเกษตรกร “นายเผชิญ ระลึก”

ส่วนกิจกรรมวันที่ 2 มีกิจกรรมเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากชุมชนข้าวโพดสู่การลด ละ เลิก การใช้สารเคมี โดยผู้นำเกษตรกรบ้านใหม่ ได้แก่ นายประภัสร์ โนราช ผู้นำชุมชน นายเผชิญ ระลึก ผู้นำเกษตรกร และนางธิลา ขันทะสีมา ผู้นำเกษตรกร กิจกรรมสาธิตองค์ความรู้โดยนักวิชาการประจำฐานต่างๆ และกิจกรรมแลกเปลี่ยนร่วมกันระหว่างเกษตรกรจากแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ หรือองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้จากการเข้าร่วมงานครั้งนี้

ด้านนายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า ชุมชนบ้านใหม่ ถือเป็นชุมชนต้นแบบโครงการหลวงและเป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านการปรับระบบเกษตรที่ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวทางโครงการหลวงให้กับเกษตรกร หน่วยงาน และผู้สนใจทั่วไปในพื้นที่จังหวัดน่าน ได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้ เพื่อที่จะสามารถนำองค์ความรู้ของสถาบัน องค์ความรู้จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ในงานพัฒนาพื้นที่สูง พร้อมทั้งเกิดเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันในพื้นที่จังหวัดน่านเพื่อขยายผลสำเร็จของการพัฒนาตามแนวทางโครงการหลวงต่อไป

สำหรับชุมชนบ้านใหม่ ในอดีตคนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ข้าวโพดมีการใช้สารเคมีช่วยในการเพาะปลูกข้าวโพด จนคนในชุมชนประสบภาวะมีสารปนเปื้อนในกระแสเลือดสูง จึงได้มีการแนะให้ชุมชนเลิกใช้สารเคมีในการเพาะปลูกและกันมาใช้สารชีวภัณฑ์ ปุ๋ยหมัก เปลี่ยนแปลงวิถีเกษตรจากการปลูกข้าวโพดมาเป็นปลูกไม้ผลแบบผสมผสาน จนเกิดกลุ่มผู้ผลิตผักปลอดภัยบ้านใหม่ขึ้น ส่งผลให้ชุมชนเกิดการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ด้านเศรษฐกิจ คนในชุมชนบ้านใหม่ นำผลผลิตที่ได้ออกมาจำหน่ายในชุมชนและนอกชุมชน รวมไปถึงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อนำมาใช้และจำหน่าย ช่วยลดรายจ่ายและสร้างรายได้ ด้านสังคมคนในชุมชนต่างให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นอย่างดี จนเข้าร่วมโครงการหมู่บ้านสะอาดในพื้นที่ขยายผลโครงการหลวง ปี 55 และได้รับรางวันรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ปี 58 และด้านสิ่งแวดล้อม คนในชุมชนให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าไม้ การทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟป่า รวมถึงการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำธรรมชาติบนภูเขา เพื่อส่งต่อลงมาใช้ในการเกษตรและนำมาบริโภค พ่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ชุมชนบ้านใหม่ยังได้มีการจัดทำฐานเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญได้แก่ 1.ฐานเรียนรู้ผักปลอดภัย 2.ฐานเรียนรู้ตลาดชุมชน 3.ฐานเรียนรู้ การปลูกไม้ผลทดแทนพืชไร่ และ 4.ฐานเรียนรู้ สิ่งแวดล้อมและการจัดการป่าชุมชน ปัจจุบันชุมชนบ้านใหม่ถือว่าเป็น “ชุมชนต้นแบบเรื่อง การลด ละ เลิก การใช้สารเคมี โดยใช้องค์ความรู้จากโครงการหลวง” สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น