จังหวัดลำพูน จับมือ ททท. จัดงาน “11 มิถุนา ตีกลองถวายบูชา ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ครั้งที่ 6 ประจำปี 2561 สมโภชครบรอบ 140 ปี ครูบาศรีวิชัยอย่างยิ่งใหญ่

จังหวัดลำพูน โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลำปาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดงาน “11 มิถุนา ตีกลองถวายบูชา ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ครั้งที่ 6 ประจำปี 2561 พร้อมสมโภชวันคล้ายวันเกิดครูบาเจ้าศรีวิชัย ครบ 140 ปี อย่างยิ่งใหญ่ ศรัทธาสาธุชนแห่เข้าร่วมงานคับคั่ง

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2561 เวลา 18.00 น. ณ ลานอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดดอยติ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วย ดร.นิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน นายอนันต์ สีแดง ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลำปาง และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันเปิดงาน “11 มิถุนายน ตีกลองถวายบูชา ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ครั้งที่ 6 ประจำปี 2561 และงานสมโภชวันคล้ายวันเกิดครูบาเจ้าศรีวิชัย ครบ 140 ปี ซึ่งจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อให้ศรัทธาสาธุชนได้น้อมสักการะปูชนียบุคคลสำคัญของจังหวัดลำพูน ผู้ทำคุณประโยชน์แก่แผ่นดินล้านนา พร้อมส่งเสริมและปลูกฝังให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้ตระหนักถึงการทำความดีโดยยึดหลักตามคำสอนของครูบาเจ้าศรีวิชัย และสืบสานฟื้นฟู อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมให้คงอยู่ ส่งเสริมทุนทางวัฒนธรรมชุมชนด้านการท่องเที่ยว เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เมืองลำพูนเกิดความรุ่งเรืองและร่มเย็น ด้วย “วิถีแห่งศรัทธา วิถีแห่งบุญ” โดยภายในงานมีขบวนแห่เครื่องสักการะจากอำเภอต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนจากหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งจัดตกแต่งอย่างสวยงาม พร้อมการแสดงแสงสีเสียงประกอบการแสดงเรื่องราวประวัติของครูบาเจ้าศรีวิชัยอย่างงดงามอลังการ และไฮไลท์สำคัญของงานคือการตีกลองหลวงถวายบูชาอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งผู้ที่ศรัทธาครูบาเจ้าศรีวิชัยเข้าร่วมชมงานอย่างคับคั่ง

สำหรับครูบาศรีวิชัย เดิมชื่อ “เฟือน” หรือ “อินท์เฟือน” บ้างก็ว่า “อ้ายฟ้าร้อง” เนื่องจากในขณะที่ท่านเกิด มีปรากฏฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ส่วนอินท์เฟือนนั้น หมายถึง การเกิดกัมปนาทหวั่นไหวถึงสวรรค์หรือเมืองของพระอินทร์ ท่านเกิดในปีขาล เดือน 9 เหนือ (เดือน 7 ของภาคกลาง) ขึ้น 11 ค่ำ จ.ศ. 1240 เวลาพลบค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2421 ที่บ้านปาง ตำบลแม่ตืน (ปัจจุบันคือตำบลศรีวิชัย) อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นบุตรของนายควาย นางอุสา มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน นายควาย บิดาของท่านได้ติดตามผู้เป็นตาคือ หมื่นปราบ (หมื่นผาบ) ซึ่งมีอาชีพเป็นหมอคล้องช้างของเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 7 (ช่วง พ.ศ. 2414-2431) ไปตั้งครอบครัวบุกเบิกที่ทำกินอยู่ที่บ้านปาง บ้านเดิมของนายควายอยู่ที่บ้านสันป่ายางหลวง ทางด้านเหนือของตัวเมืองลำพูน นายอินท์เฟือน อาศัยอยู่ในหมู่บ้านกันดาร มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มากโดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยง ในช่วงนั้นบ้านปางยังไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน จนกระทั่งเมื่อนายอินท์เฟือนมีอายุได้ 17 ปี ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ “ครูบาขัตติยะ” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ครูบาแฅ่งแฅะ” (หมายถึง ขาพิการ เดินขากะเผลก) เดินธุดงค์จากบ้านป่าซางผ่านมาถึงหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้ท่านอยู่ประจำที่บ้านปาง แล้วก็ช่วยกันสร้างกุฏิชั่วคราวให้ท่านจำพรรษา

เด็กชายอินท์เฟือน จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ และเมื่ออายุได้ 18 ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่อารามแห่งนี้ โดยมีครูบาขัตติยะเป็นพระอุปัชฌาย์ 3 ปีต่อมา (พ.ศ. 2442) ได้เข้าอุปสมบทในอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาในการอุปสมบทว่า “สีวิเชยฺย” มีนามบัญญัติว่า พระศรีวิชัย เมื่ออุปสมบทแล้ว พระศรีวิชัย ได้กลับมาจำพรรษาที่อารามบ้านปาง 1 พรรษา จากนั้นได้ไปศึกษากัมมัฏฐานและวิชาอาคมกับครูบาอุปละ วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ต่อมาได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของครูบาวัดดอยคำ และอีกท่านหนึ่งที่ถือว่าเป็นครูของครูบาศรีวิชัยคือ ครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน

ครูบาศรีวิชัย ได้รับการศึกษาจากครูบาอุปละ วัดดอยแต เป็นเวลา 1 พรรษาก็กลับมาอยู่ที่อารามบ้านปางจนถึง พ.ศ. 2444 อายุได้ 24 ปี พรรษาที่ 4 ครูบาขัตติยะได้จาริกออกจากบ้านปางไป (บางท่านว่ามรณภาพ) ครูบาศรีวิชัย จึงรักษาการแทนในตำแหน่งเจ้าอาวาส และเมื่อครบพรรษาที่ 5 ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง จากนั้นก็ได้ย้ายวัดไปยังสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสม คือบริเวณเนินเขาซึ่งเป็นที่ตั้งวัดบ้านปางในปัจจุบัน เพราะเป็นที่วิเวกและสามารถปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี โดยได้ให้ชื่อวัดใหม่แห่งนี้ว่า วัดจอมสรีทรายมูลบุญเรือง แต่ชาวบ้านทั่วไปยังนิยมเรียกว่า วัดบ้านปาง ตามชื่อของหมู่บ้าน

ครูบาศรีวิชัยมีความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมะอันสูงสุดดังปรากฏจากคำอธิษฐานบารมีที่ท่านอธิษฐานไว้ว่า “…ตั้งปรารถนาขอหื้อได้ถึงธรรมะ ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานสิ่งเดียว…” และมักจะปรากฏความปรารถนาดังกล่าว ในตอนท้ายของคัมภีร์ใบลานที่ท่านสร้างไว้ทุกเรื่อง อีกประการหนึ่งที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักและอยู่ในความทรงจำของชาวล้านนา คือการที่ท่านเป็นผู้นำในการสร้างทางขึ้นสู่ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหารโดยพลังศรัทธาประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง 5 เดือนเศษ โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐแม้แต่บาทเดียว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น