“มทร.ล้านนา”ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านบริการวิชาการร่วมกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านบริการวิชาการร่วมกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) สาขา 1 สาขา 2 และสาขา 3 ในโอกาสที่สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ครบรอบ 16 ปีแห่งการจัดตั้งสถาบัน ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ซุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (ดอยสะเก็ด) ในงานมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์เกรียงไกร ธารพรศรี ผู้อำนวยการสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ร่วมกับหัวหน้าสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนแห่งชาติ สาขา 1 นายปรเมศวร์ อริเดช และผ่านระบบออนไลน์ได้แก่ สทบ.สาขา 2 นายเกียรติศักดิ์ ทองสุระวิโรจน์ และสทบ.สาขา 3 นางสาวรัญญา มินิพันธ์ เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลง

การลงนามในบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ มีขอบเขตของความร่วมมือระยะเวลา 5 ปี ในการสนับสนุนด้านบริการวิชาการ การใช้ทรัพยากรร่วมกันด้านข้อมูลความต้องการ เพื่อพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมอาชีพ เพื่อการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนและความร่วมมือทางด้านการพัฒนาบุคลากร การถ่ายทอดความรู้และความชำนาญให้แก่บุคลากรทั้งสองฝ่าย และการสนับสนุนทางหลักสูตรฝึกอบรมอาชีพ ข้อมูลองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดการขยายผลการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน ให้กับเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านในพื้นที่ในความรับผิดชอบของสทบ. ทั้ง 3 สาขา 11 จังหวัด 17,000 กว่ากองทุน อันได้แก่ เชียงราย, เชียงใหม่, พะเยา, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, ลำพูน กำแพงเพชร, ตาก, น่าน,แพร่, สุโขทัย, อุตรดิตถ์ นครสวรรค์, พิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อชุมชน ที่มีพันธกิจในการให้บริการวิชาการที่มุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สอดคล้องกับบริบทมหาวิทยาลัยด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี และตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นชุมชนและสังคม และได้มีการจัดตั้งสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนขึ้น ตามมติสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2549 ในการร่วมสร้างและส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อความสุขของชุมชน โดยมีพันธกิจ ดังนี้

1.สร้างโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้ของชุมชน
2.ประสานงานเพื่อพัฒนาและสังเคราะห์องค์ความรู้ที่เหมาะสมสู่ชุมชน
3.ส่งเสริมและสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชนทั้งในและต่างประเทศ
4.เป็นศูนย์กลางประสานงานการจัดเก็บและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้
5.สะท้อนการใช้องค์ความรู้และบอกปัญหาที่จะนำไปสู่การแก้ไขเชิงวิชาการ

ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ได้ดำเนินงานขับเคลื่อนงานด้านบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยต่างๆมากมาย อาทิ โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตหมู่บ้านและชุมชนแบบมีส่วนร่วมเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯรัชกาลที่ 9 เฉลิมพระชนมายุ 84 พรรษา และสมเด็จพระเทพฯ สยามบรมราชกุมารี เฉลิมพระชนมายุ 60 พรรษา สนองงานโครงการอย่างต่อเนื่อง และได้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย และสนองงานโครงการหลวง โรงงานแปรรูปหลวง เป็นต้น และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ได้รับรางวัลเหรียญทองจากการนำเสนอผลงาน “วิธีการขับเคลื่อนองค์ความรู้สู่ชุมชน” จากงาน Inventor Festival 2008 ณ เมืองซูโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่จัดขึ้นโดยสมาคมสิ่งประดิษฐ์แห่งประเทศจีน และสมาพันธ์สิ่งประดิษฐ์ระหว่างประเทศ

และในวันที่ 28 มีนาคม 2565 สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ได้จัดกิจกรรมครบรอบ 16 ปี แห่งการจัดตั้งสถาบันฯขึ้น โดยมีกิจกรรมทำบุญ และกิจกรรมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านบริการวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สาขา 1 สาขา 2 และสาขา 3 โดย มทร.ล้านนาและสทบ. ได้มีความร่วมมือและดำเนินงานในการพัฒนาสังคมชุมชน ตั้งแต่เริ่มต้นจัดตั้งสถาบันฯ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ในวันครบรอบ 16 ปีนี้ สถาบันฯได้เล็งเห็นว่า สทบ. เป็นหน่วยงานที่เข้มแข็งในการพัฒนาขับเคลื่อนชุมชนในระดับฐานราก และตรงกับพันธกิจในการบริการวิชาการของมหาวิทยาลัย และเป็นโอกาสอันดีนี้ในบันทึกความร่วมมือในการส่งเสริมเกื้อหนุนกัน ในการพัฒนาองค์ความรู้ ฝึกอบรมอาชีพฯ เป็นต้น ในการพัฒนาชุมชน 11 จังหวัด และ 17,000 กว่ากองทุน/ชุมชน ในพื้นที่รับผิดชอบของ สทบ 1 – 3 และครอบคลุมพื้นที่การศึกษาของ มทร.ล้านนา ทั้ง 6 จังหวัด เช่นเดียวกัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น