แอ่ว “เมืองลอง” ..ลองแล้วจะรัก..

ที่นี่…บ้านปิน.. ประตูสู่เมืองศิลปะย้อนยุคอินดี้ เมืองเล็กๆ ของอำเภอลอง จังหวัดแพร่ ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางหุบเขา เมืองที่มีตำนานเล่าขานมาแต่โบราณ จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เมืองแห่งความอินดี้ ด้วยสีสันฉูดฉาดของบ้านเรือนในชุมชนทำให้บ้านปินกลายเป็นเมืองเก่าที่ไม่แก่ เมืองที่นักท่องเที่ยวต้องมาเยือนให้ได้สักครั้ง

ไม่ว่าจะเป็น สถานีรถไฟบ้านปิน เป็นสถานีรถไฟแห่งเดียวของไทยที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบบาวาเรียนเฟรมเฮาส์ หรือแบบโครงไม้ อันเป็นแบบที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี ผสมกับสถาปัตยกรรมแบบไทยคือเรือนปั้นหยา สร้างขึ้นโดยพระราชดำริรัชกาลที่ 5 แต่แล้วเสร็จและในงานในปี 2475 ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 ควบคุมการก่อสร้างโดยกรมรถไฟทางหลวงซึ่งมี พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เฑอ พระองค์เจ้า บุรฉัตรไขยากร กรมพระกำแพงเพ็ชร อัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการ และมีนายช่างชาวเยอรมันชื่อ เอมิส ไอเซนโฮเฟอร์ เป็นผู้ควบคุมการสร้าง นับเวลาใช้งานจนถึงปัจจุบันได้กว่าร้อยปี ด้วยต้องการแสดงอิทธิพลให้กับชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตกได้รับรู้ อันเนื่องจากในยุคสมัยนั้นยังคงเป็นยุคล่าอาณานิคมอยู่ ตัวสถานีเป็นสีเหลืองอมส้ม โดยหน้าสถานีจะมีหอประแจ เนืองจากการสื่อสารสมัยนั้นยังไม่ค่อยดีข้างสถานีจะมีหอ แต่ปัจจุบันเลิกใช้งานแล้ว และข้างสถานีจะมีหอเติมน้ำสำหรับรถจักรไอน้ำ แต่ได้เลิกใช้งานแล้ว ปัจจุบันก็ยังเป็นรูปแบบตามเดิม แต่มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยการตกแต่งเพิ่มสีสันใหม่

พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ ก่อตั้งโดย อาจารย์โกมล พานิชพันธ์ อาคารพิพิธภัณฑ์ได้รับการออกแบบโดยอาจารย์โกมล พาณิชพันธ์ รูปทรงอาคารสวยเด่นเป็นสง่า โดยได้จำลองแบบมาจากสถานีรถไฟบ้านปิน อาจารย์โกมล เป็นผู้รักและหลงใหลในความงามของผ้าโบราณ จึงชอบสะสมผ้าโบราณชนิดต่างๆ ของเมืองลองและของชุมชนอื่นมาเป็นระยะเวลายาวนาน จนเป็นที่ยอมรับในสังคมจังหวัดแพร่ว่า อาจารย์โกมลเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องผ้าโบราณคนหนึ่งของจังหวัดแพร่ โดยอาจารย์โกมลได้สะสมผ้าโบราณชนิดต่างๆ ของเมืองลอง และผ้าโบราณของชุมชนต่างๆ ใกล้เคียง และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ในวันที่ 12 สิงหาคม 2535 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทำให้ที่นี่เป็นแหล่งรวมผ้าซิ่นตีนจกที่มีอายุเก่าแก่นับร้อยๆ ปี และด้วยความเป็นแหล่งสะสมผ้าโบราณที่มีชื่อเสียง ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ และผู้จัดละครหลายๆ เรื่องมาขอให้ช่วยในเรื่องการจัดหาเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายของนักแสดง ซึ่งละครเรื่องล่าสุดที่ใช้ผ้าซิ่นจากพิพิธภัณฑ์นี้ก็คือ เรื่อง “รอยไหม” นั่นเอง ที่นี่นอกจากจะเก็บสะสมและจัดแสดงผ้าซิ่นตีนจกของเมืองลองแล้ว ยังมีผ้าซิ่นตีนจกจากแหล่งอื่นๆ เพื่อให้ผู้ที่ได้เข้ามาเยี่ยมชม สามารถเปรียบเทียบความแตกต่างกันของผ้าซิ่นตีนจกจากเมืองลอง และผ้าซิ่นตีนจกจากแหล่งอื่นๆ ได้ด้วย นอกจากผ้าซิ่นแล้ว ที่นี่ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับลายผ้าจัดแสดง  และยังมีแบบจำลองวิถีชีวิตของชุมชนโบราณ และแสดงการแต่งกายและลวดลายผ้าของคนโบราณให้ชมด้วย

 

rbt

“โฮงซึงหลวงแหล่งเรียนรู้ดนตรีล้านนาสู่เยาวชน” สร้างขึ้นโดยนายจีรศักดิ์ หรือ บอม ธนูมาศ เพื่อให้ เป็นแหล่งเรียนรู้ดนตรีล้านนาสู่เยาวชนที่หมู่ 7 ต.ห้วยอ้อ อ.ลอง จ.แพร่ ตนเองเป็นคนชอบ ดนตรีพื้นเมืองมาก ฝึกเล่นดนตรี พื้นเมืองมาตั้งแต่เด็กกับผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นนักดนตรี สังเกตเสียงและเครื่องดนตรีที่เขาเล่น จนตั้งเป็นวงดนตรีพื้นเมือง โฮงซึงหลวง เป็นอาคารไม้ 3 หลัง หลังแรกใช้เป็นโรงเรียนเล่นดนตรี หลังที่ 2 จัดแสดงผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นใหม่ และใช้บรรเลงดนตรี…ส่วนหลังสุดท้ายเป็นโรงผลิตเครื่องดนตรี ทั้งดีด สี ตี เป่า ที่นี่มาพักฟรี เรียนฟรี หรือสนใจอยากจะทำเครื่องดนตรีเองก็มีให้ลองทำ และนำกลับไปเล่นที่บ้าน หากต้องการซื้อก็มีจำหน่ายในราคาไม่แพงด้วยความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์เครื่องดนตรีพื้นเมืองไม่ให้หายไปกับกาลเวลา และถ่ายทอดความรู้สู่เยาวชนประชาชนทั่วไป โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทำให้โฮงซึงหลวงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปจนได้รับรางวัลมากมาย.

วัดพระธาตุศรีดอนคำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดห้วยอ้อ อยู่เลยที่ว่าการอำเภอลองไปเล็กน้อย เป็นพระธาตุเก่าแก่ขนาดใหญ่ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1078 คราวพระนางจามเทวีเสด็จจากเมืองละโว้ไปเมืองหริภุญชัย พระธาตุแห่งนี้ได้รับการบูรณะหลายครั้งปัจจุบันมีฐานเป็นปูน ส่วนบนประดับด้วยแผ่นโลหะสีทอง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรวบรวมตำนานพระพุทธรูป และมีพระพุทธรูปศิลปะพม่าที่ทำจากไม้เรียกว่า “พระเจ้าพร้าโต้” เป็นพระพุทธรูปไม้ศิลปะล้านนา ประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศรีดอนคำ ขนาด หน้าตัก 74 ซม. ฐานกว้าง 34 ซม. สูง 8.84 ซม. สร้างโดย การใช้มีดพร้า หรือ มีดโต้ ซึ่งสร้างเสร็จภายใน 1 วัน ก่อนพระอาทิตย์ตกดินและนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “พระเจ้าทันใจ” นอกจากพระเจ้าพร้าโต้แล้ว ภายในพิพิธภัณฑ์ ยังเต็มไปด้วยพระพุทธรูปเก่าแก่อีกเป็นจำนวนมากและมีหอไตร ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมตำนาน พระพุทธรูปเก่าแก่ ตลอดจนคัมภีร์ต่างๆ และที่ขาดไม่ได้คือต้องมาดูระฆังลูกระเบิด ที่มาที่ไปของคำว่า “เมืองแพร่แห่ระเบิด” ที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการที่มีการทิ้งระเบิดทางรถไฟ แต่ระเบิดไม่ระเบิด ชาวบ้านเกิดความเสียดายจึงได้ช่วยกันแบกหามใส่เกวียนไปถวายวัดทำเป็นระฆัง ผู้คนที่ผ่านไปมา ไม่เข้าใจก็ต่างนำไปพูดกล่าวขานว่า “แพร่แห่ระเบิด” พระบรมธาตุเจดีย์ ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถหลังใหญ่ มีองค์พระธาตุซึ่งบรรจุพระอุรัฐิ (กระดูกหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า มีศาลาประดิษฐานของพระเจ้าเชียงแสนอยู่ภายในวัด ถือว่าเป็นพระธาตุที่มีอายุเก่าแก่มาช้านานคู่กับวัดพระธาตุศรีดอนคำ

และที่ขาดเสียไม่ได้ เมื่อได้มีโอกาสเดินทางมาเที่ยวที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ต้องลิ้มลองอาหารถิ่นขึ้นชื่อของที่นี่  “ขนมจีนน้ำย้อย” หรือที่คนเหนือเรียกว่า “ขนมเส้นน้ำย้อย” เหตุที่เรียกว่า “ขนมจีนน้ำย้อย” มีที่มาจากการทำเส้นขนมจีนขายแบบสดๆ ตอนจับเส้นขนมจีนล้างสะเด็ดน้ำ จะมีน้ำไหลย้อย จึงเป็นที่มาของชื่อขนมจีนน้ำย้อย เมื่อเดินทางมาถึงอำเภอลอง ขับเลยปั๊มน้ำมันปตท. ประมาณ  200 เมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยเล็ก  ๆ ไปยังหมู่บ้านแม่ลานเหนือ ขับตรงไปไม่ไกล จะเห็นรั้วบ้านสีชมพูสดใส จอดรถบริเวณหน้าร้าน เปิดประตู และยังไม่ได้ลงจากรถ จะได้กลิ่นหอมโชยมาแต่ไกล เป็นกลิ่นของ “น้ำพริกน้ำย้อย” ที่นำกระเทียมและหัวหอมเจียวใส่พริกเผา ตามสูตรโบราณดั้งเดิมของทางร้าน นอกจากเส้นขนมจีนที่ทำสด เส้นเหนียวนุ่มน่ารับประทานแล้ว ต้องทานคู่กับน้ำตาขนมจีน มี  2 น้ำให้เลือก คือ น้ำเงี้ยว และน้ำใสและเครื่องเคียงที่สำคัญคือน้ำพริกน้ำย้อย มีให้เลือก 2 แบบ คือเผ็ดน้อย และเผ็ดมาก ทำจากหัวหอมแดง กระเทียม และพริกป่น นำหอมแดงและกระเทียมเจียวให้หอม และพักทิ้งไว้ให้น้ำมันออก จากนั้นใส่พริกป่น คลุกให้เข้ากัน รสชาติหอม หวาน เค็ม เผ็ด กลมกล่อมมาก ขนมเส้นน้ำย้อย รับประทานกับเครื่องเคียง ไข่ต้ม แคปหมู และผักลวกต่าง ๆ เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วงอก ผักบุ้ง เพิ่มความอร่อยอย่างลงตัว นอกจากนี้ยังมีเมนูส้มตำรสเด็ด ตำไทยไข่เค็ม ตำข้าวโพดไข่เค็ม ตำไทย ตำปลาร้า ตำอื่น ๆ และยำหมูยอ

 

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น