ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพฯ มช. จัดงานเสวนาดอยสุเทพครั้งที่ 5 ‘สุเทพเอนซิส’ ฤาจะหายไป? สถานภาพความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนดอยสุเทพ

ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงาน เสวนาดอยสุเทพครั้งที่ 5 (The 5th Doi Suthep Symposium) หัวข้อ “’สุเทพเอนซิส’ ฤาจะหายไป? สถานภาพความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนดอยสุเทพ” เมื่อวันที่ 30-31 สิงหาคม 2562 ณ ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งถือเป็นงานเสวนาครั้งใหญ่ประจำปีของศูนย์ฯ ที่จัดมาแล้วตั้งแต่ปี 2558 เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ร่วมทั้งเกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัย ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมชุมชนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิตชล ผลารักษ์ หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน พร้อมกล่าวเปิดงานว่า ดอยสุเทพตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 24 ของประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ 160,000 ไร่ ใน 4 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอแม่ริม อำเภอแม่แตง และอำเภอหางดง ถือเป็นผืนป่าใกล้เมืองเชียงใหม่ โดยอยู่ห่างจากตัวเมืองเพียง 6 กิโลเมตร บนเส้นทางจากเชิงดอยสุเทพขึ้นสู่ยอดดอยปุยประมาณ 16 กิโลเมตร มีสถานที่สำคัญและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ให้เที่ยวชมได้ตลอด อาทิ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร และพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์

ป่าส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งนี้อยู่บนภูเขาสูงสลับซับซ้อน นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแล้ว ยังถือเป็นผืนป่าที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากแห่งหนึ่งของประเทศไทย แม้ว่าดอยสูงแห่งนี้จะยังอุดมสมบูรณ์ด้วยสภาพธรรมชาติทั้งพืชพรรณและสัตว์ป่า แต่ปัจจุบันพืชพรรณและสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยกำลังเผชิญสภาพวิกฤติด้วยปัจจัยคุกคามต่างๆ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีจำนวนลดลงมาก สัตว์ป่าขนาดใหญ่บางชนิดและพันธุ์พืชหลายชนิดได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากพื้นที่เขตอุทยานแห่งนี้

อาจารย์ ดร.เดีย พนิตนาถ แชนนอน หัวหน้าศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ กล่าวว่า ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ ภายใต้สังกัดของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านธรรมชาติวิทยาของดอยสุเทพ โดยมีพันธกิจหลักในการให้บริการวิชาการแก่ชุมชนผ่านการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับดอยสุเทพในหลากหลายแง่มุม การจัดกิจกรรมและการอบรม รวมไปถึงการเป็นเวทีสำหรับการเสวนาทางวิชาการด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความตระหนักและปลูกฝังจิตสำนึกของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของศูนย์ฯ ที่มุ่งหวังให้ชุมชนตระหนักถึงความสวยงาม และความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) องค์การสวนพฤกษศาสตร์ สวนสัตว์เชียงใหม่ พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) จัดงานเสวนาดอยสุเทพครั้งนี้ขึ้นมา ในหัวข้อ “’สุเทพเอนซิส’ ฤาจะหายไป? สถานภาพความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนดอยสุเทพ” เพื่อให้นักวิจัย นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญได้มาเผยแพร่ความรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลถึงสถานภาพของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ว่าจะยังคงมีอยู่บนดอยสุเทพหรือไม่ รวมทั้งเพื่อค้นหาคำตอบของสถานภาพของพืชพรรณและสัตว์ป่าบนดอยสุเทพที่ยังไม่แน่ชัด อันจะเป็นประโยชน์แก่สังคมในการอนุรักษ์ธรรมชาติต่อไป

สำหรับงานเสวนาดอยสุเทพในปีนี้ เน้นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตบนดอยสุเทพ ประกอบด้วยกิจกรรมทั้งในส่วนของการบรรยายวิชาการใน 3 หัวข้อ คือ ระบบนิเวศลุ่มน้ำ ระบบนิเวศของพืช และระบบนิเวศของสัตว์ป่า บนดอยสุเทพ ต่อด้วยการเสวนาวิชาการใน 3 หัวข้อ คือ สถานภาพความหลากหลายของพืช สัตว์ป่า จุลินทรีย์และฟังไจ บนดอยสุเทพ โดยได้รับเกียรติจากท่านวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและมากประสบการณ์ในสาขาต่างๆ กว่า 15 ท่าน จากหลากหลายหน่วยงาน ที่มาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับสถานภาพของสิ่งมีชีวิตทั้งกลุ่มสุเทพเอนซิส (สิ่งมีชีวิตที่ถูกตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ครั้งแรกที่ดอยสุเทพ) และสิ่งมีชีวิตกลุ่มอื่นๆ รวมถึงบทบาทของสิ่งมีชีวิตแต่ละกลุ่มในระบบนิเวศที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับชุมชน และบทบาทของชุมชนคนเชียงใหม่หรือชุมชนในวงกว้างที่มีส่วนร่วมในการดูแลและอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตบนดอยสุเทพ

นอกจากนั้น ภายในงานยังจัดแสดงนิทรรศการความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนดอยสุเทพ ประกอบด้วยภาพถ่ายและข้อมูลของสิ่งมีชีวิตบนดอยสุเทพ ผลงานศิลปะในหัวข้อ “เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นดอยสุเทพ” และ “สาหร่าย” จากผู้เข้าร่วมโครงการศิลปะในสวน ARS Suthepensis 2019 นิทรรศการของหน่วยงานภาครัฐผู้ร่วมจัดงาน และการแจกกล้าไม้ให้ผู้เข้าร่วมงานได้นำกลับไปปลูกเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองเชียงใหม่

ทางศูนย์ฯ ยังได้จัดกิจกรรมเดินป่าสำรวจความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนดอยสุเทพ เส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอยปุย ณ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมพร้อมด้วยวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญกว่า 60 คน ได้ร่วมผจญภัยไปสำรวจและค้นหาสิ่งมีชีวิตทั้งพืช สัตว์ป่า จุลินทรีย์และฟังไจ ตลอดเส้นทางเดินในป่าดงดิบแห่งล้านนา พร้อมพิชิตยอดดอยปุยร่วมกัน โดยระหว่างทางทุกคนได้พบเจอกับสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด อาทิ ตุ๊กกายดอยสุเทพ จิ้งเหลนห้วยไทย งูเขียวหางไหม้ท้องเขียว ตั๊กแตนเปลือกไม้ ซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่นบนดอยสุเทพ อีกทั้งยังได้ชื่นชมความสวยงามของพรรณพืชอย่าง กล้วยไม้ดิน อาทิ นางอั้วดอกเขียว มังกรแดง เป็นต้น รวมทั้งดอกกระดิ่ง เอื้องหมายนา ต้นเอนอ้า มอส ตะไคร่น้ำ ไลเคน และเห็ดหลายชนิด ในบรรยากาศเขียวขจีเย็นชุ่มฉ่ำในป่าหน้าฝน สร้างความตื่นตาน่าประทับใจที่สอดแทรกความรู้ให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างยิ่ง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น