เชียงใหม่มียอดผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เจ็ดเดือนแรกสูงกว่าตลอดทั้งปี 2561

สถิติเผย “เชียงใหม่” มียอดผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 7 เดือนแรกสูงกว่าตลอดทั้งปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 6 สิงหาคม 2562 พบผู้ป่วยแล้วกว่า 13,460 รายและผู้เสียชีวิต 2 ราย แพทย์แนะนำเมื่อเป็น ต้องรีบรักษา ลดโอกาสแพร่กระจายสู่คนรอบข้าง

ศาสตราจารย์ ดร.พญ. เพณณินาท์ โอเบอร์ดอร์เฟอร์ หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และทีมงานจากคณะแพทย์ศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยคุณกุลธิดา ลีนะบรรจง หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด จัดงานแถลงข่าวภายใต้หัวข้อ “ไข้หวัดใหญ่ รู้เร็ว รักษาก่อน ลดการแพร่กระจาย นวัตกรรมใหม่สู่แนวการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ด้วยยาต้านไวรัส” ณ โรงแรมแคนทารี่ ฮิลส์ จังหวัดเชียงใหม่

โดยข้อมูลจากรายงานโรคจากระบบเฝ้าระวัง ของสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข เผยสถิติที่น่าตกใจของโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 6 สิงหาคม 2562 พบผู้ป่วยแล้วกว่า 13,460 รายและผู้เสียชีวิต 2 ราย โดย 7 เดือนแรกปี 2562 สูงกว่าตลอดทั้งปีของ 2561 ที่มีจำนวนผู้ป่วย 10,863 ราย และไม่พบผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ยังมีคนไทยจำนวนมากที่เข้าใจว่า เมื่อเป็นโรคไข้หวัดใหญ่แล้วหายเองได้ และเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่สามารถระบาดไปยังผู้คนรอบข้าง และมีโอกาสพัฒนาไปสู่ภาวะแทรกซ้อน จนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

“ในช่วงฤดูฝน ประชาชนทั่วไปควรสังเกตอาการของตนเองและผู้คนรอบข้าง หากมีไข้สูงติดต่อกันเกิน 48 ชั่วโมง ให้รีบเข้าพบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ซึ่งจะเข้าไปยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในร่างกายไม่ให้อาการรุนแรงได้เร็วขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงในช่วงของการแพร่ระบาดไปยังบุคคลรอบข้างด้วย โรคไข้หวัดใหญ่จึงเป็นโรคที่ยิ่งหายเร็วเท่าไหร่ ยิ่งดีสำหรับตนเองและคนรอบข้างเท่านั้น” ศาสตราจารย์ ดร.พญ. เพณณินาท์ โอเบอร์ดอร์เฟอร์ หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว

โรคไข้หวัดใหญ่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังประจำปี 2562 โดยข้อมูลถึงวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา พบผู้ป่วยในประเทศไทย 217,161 ราย และเสียชีวิต 16 ราย เชียงใหม่มีอัตราป่วย 790.25 ต่อแสนประชากร ซึ่งอยู่ในอันดับ 4 จากทั้งหมด 77 จังหวัดรองจาก จังหวัดระยอง กรุงเทพมหานคร และจันทบุรี โดยพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สูงที่สุดอยู่ที่อำเภอสันทราย ตามมาด้วย อำเภอเมือง และอำเภอแม่ริม

“ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา ทั้งยังติดต่อไปยังคนอื่นๆ ได้ง่ายผ่านการไอหรือจาม โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่อาจแพร่เชื้อได้นาน 3 – 5 วัน นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อทางอ้อมผ่านการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อได้ การรู้จักรักษาและป้องกันตัวเองเมื่อเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ จึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการคำนึงถึงผู้อื่นในสังคม และเคารพต่อสิทธิสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว และมีผู้คนจำนวนมากเดินทางมาที่แห่งนี้ตลอดเวลา” ศาสตราจารย์ ดร.พญ. เพณณินาท์ กล่าวเสริม

โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 4 สายพันธุ์ คือ A , B , C และ D โดยสายพันธุ์ A และ B เป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งประเทศไทยมีแนวโน้มพบการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลของสายพันธุ์ B มากกว่าสายพันธุ์ A โดยสายพันธุ์ B จะไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A และไม่สามารถติดต่อระหว่างคนกับสัตว์ได้

อาการแทรกซ้อนที่พบจากการป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ อาทิ หายใจเร็ว มีปัญหาด้านการหายใจ มีอาการเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อ แน่นหน้าอกและช่วงท้อง อาเจียนบ่อย มีอาการแพ้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และอาจมีโรคแทรกซ้อน ได้แก่ การติดเชื้อในอวัยวะต่างๆ หลอดลงอักเสบ ปอดบวม ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจวาย ซึ่งอาการที่รุนแรงขึ้นเป็นผลมาจากหลายปัจจัย นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงสูงที่ไวรัสไข้หวัดใหญ่จะส่งผลให้อาการของโรคเดิมที่เป็นอยู่ทรุดหนักลง การรีบรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ จึงเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ด้วย

ปัจจุบัน ในประเทศไทยมียาต้านไวรัสหลายแขนงอยู่ในตลาด อันเกิดจากการพัฒนาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้เกิดการรักษาที่มีประสิทธิภาพแก่ผู้ป่วย ทั้งในแง่ของการลดความรุนแรงของโรค ซึ่งถือเป็นการลดโอกาสที่จะเกิดการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่คนรอบข้างด้วย

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น