กลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวาน สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปหวั่น !!! สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ปรับเป้าส่งออกติดลบ 1% วอนรัฐเร่งดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ

นายองอาจ  กิตติคุณชัย อุปนายกและประธานกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวาน สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า จาก สถานการณ์ที่สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ลดเป้าหมายการส่งออกของไทยในปี 2562 เป็นครั้งที่ 4 โดยเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 ประมาณการส่งออกไทยปี 2562 ลดเหลือ -1% จากเดิมที่เคยคาดโต 1% นั้น มาจากผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ค่าเงินบาทที่แข็งค่ารวดเร็วและกระทบต่อราคาสินค้า รวมถึงราคาน้ำมันที่ผันผวน ซึ่งฉุดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยอย่างมาก

ในนามของกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวาน สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อประเทศไทย ที่เป็นประเทศส่งออกอาหารอันดับต้นๆ ของโลก และสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จึงเสนอให้ภาคเอกชน และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร เร่งปรับตัวและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า ทั้งด้านนวัตกรรมการผลิต การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การใช้สื่อออนไลน์เข้ามาช่วยในการขยายตลาด เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค และเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออก

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารบรรจุกระป๋อง จะมีต้นทุนของกระป๋องคิดเป็นสัดส่วนราว 20-40% ปัจจุบันผู้ผลิตกระป๋องในไทยนำเข้าแผ่นเหล็กจากประเทศจีนราว 70% ซึ่งราคาเหล็กในประเทศจีนมีแนวโน้มลดลง อีกทั้งเป็นสินค้านำเข้า จึงได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่แข็งค่า แต่ราคากระป๋องในไทยยังไม่มีการแจ้งปรับลดราคาตลอด  3 ไตรมาสของปี 2562 จึงขอให้กรมการค้าภายในช่วยดูแลในประเด็นนี้ เพื่อลดผลกระทบของผู้ส่งออกอาหารสำเร็จรูปจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทั้งนี้ภาครัฐควรเข้ามากำกับดูแลให้เงินบาทมีเสถียรภาพ และสร้างมาตรการเหมาะสมและวิธีการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากรายได้จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอาหารและสินค้าเกษตรถือเป็นรายได้สำคัญของประเทศ

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า สินค้าอาหารสำเร็จรูปเป็นหนึ่งในความหวังของการส่งออกของประเทศไทย  มูลค่าการส่งออกของไทยเดือนม.ค.-พ.ค.2562 ส่วนใหญ่ลดลงเกือบทุกรายการ แต่ในหมวดสินค้าอาหารยังสามารถประคับประคองตัวได้ดีเนื่องจากสินค้าอาหารจากประเทศไทยมีคุณภาพเป็นที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับจากประเทศต่างๆทั่วโลก  รวมถึงระดับราคาสินค้าไม่สูงจนเกินไป แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการกำลังประสบปัญหาด้านอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกส่งผลให้การเสนอราคาในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 เริ่มมีปัญหา นอกจากเงินบาทแข็งค่ามากกว่าคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกัน ยังมีปัญหาการอ่อนค่าเงินของประเทศคู่ค้า ส่งผลให้สินค้าไทยมีราคาแพงและเป็นโอกาสให้ประเทศคู่แข่งสามารถส่งสินค้าไปทดแทนตลาดได้ และผู้ประกอบการบางรายอาจจำเป็นต้องลดราคาสินค้าขายอย่างขาดทุนเพื่อรักษาตลาดไว้

จึงขอเสนอให้ภาครัฐ ติดตามและบริหารอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งเพื่อรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรที่ส่งออกโดยประเทศไทยมีต้นทุนวัตถุดิบหลักๆ จากในประเทศจึงไม่ได้รับประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาทเพื่อนำเข้าวัตถุดิบมาผลิต และส่งออกกลับเป็นผลร้ายซ้ำเติมราคาสินค้าเกษตรในประเทศ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น