มหาวิทยาลัยแม่โจ้มอบรางวัลนักวิจัยสร้างชื่อ คว้า 7 รางวัล จาก 6 ผลงาน สร้างชื่อเสียงระดับชาติและนานาชาติ

นักวิจัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้สร้างชื่อ คว้า 7 รางวัล จาก 6 ผลงาน ในการร่วมแสดงผลงานและประกวดในเวทีระดับชาติ  และนานาชาติ ประจำปี 2562  มหาวิทยาลัยจัดพิธีมอบประกาศเกียรติคุณ สร้างขวัญและกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อองค์กรและสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ  ข้ามสี่ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร  มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า  “ในปีงบประมาณ 2562 ทางสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร ได้ดำเนินโครงการส่งผลงานของนักวิจัยเข้าร่วมแสดงผลงานและประกวดในระดับชาติและนานาชาติ  คืองาน XXI Moscow International Salon of Inventions and Innovation Technologies <ARCHIMEDES-2019> ณ กรุงมอสโคว์ ประเทศ สหภาพโซเวียตรัสเซีย และงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2562 (Thailand Research Expo 2019) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยผลงานของนักวิจัยได้รับรางวัลจากการแสดงและกวดในรายการดังกล่าว จำนวน 6 ผลงาน รวมทั้งสิ้น 7 รางวัล ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก”

 ผลงานที่ได้รับรางวัลรายละเอียดดังนี้

  • รางวัลจากการแสดงและประกวดผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ในงาน XXI Moscow International Salon of Inventions Technologies <ARCHIMEDES-2019>  เป็นผลงานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา  คงจรูญ คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัลรวม 6 รางวัล จาก 2 ผลงาน ดังนี้
  1. ผลงานวิจัยเรื่อง “Longaloop Closing the Loop Creating New Value” น้ำผลไม้พร้อมดื่มที่ดีต่อสุขภาพโดยใช้เทคนิคการทำอาหารระดับโมเลกุลเพื่อให้ได้คุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลายจากเนื้อลำไยเกรดต่ำซึ่งไม่เพียงให้รสชาติที่หวานตามธรรมชาติ แต่ยังมีรสชาติที่แท้จริงของลำไยโดยไม่มีการปรุงแต่ง ที่เหมาะกับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ อีกทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับลำไยเกรดต่ำทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งผลงานนี้ได้รับ 3 รางวัล ได้แก่
  • Gold Medal จากงาน ARCHIMEDES 2019
  • Gold Medal จาก Iraqi Inventors Forum ประเทศอิรัก
  • Gold Cup (Special Prize) รางวัลนวัตกรรมพิเศษ จาก Volga State University of Technology ประเทศรัสเซีย
  1. ผลงานวิจัยเรื่อง Phytochemical Booster Ingredient from Aroma Rice Powder” เป็นการนำโปรตีนไฮโดรไลเสทจากปลามาใช้ในการกระตุ้นการสังเคราะห์พฤกษเคมีในต้นกล้าข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง เพื่อนำมาผลิตเป็นผงใบข้าวหอมที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว พบว่าผงข้าวหอมมีชนิดของสารในกลุ่มพอลิฟีนอลชนิดเดียวกับที่พบในชา เขียว ซึ่งผลงานนี้ได้รับ 3 รางวัล ได้แก่
  • Gold Medal จากงาน ARCHIMEDES 2019
  • Gold Cup (Special Cup Onstage) Award จาก CIIS ไต้หวัน On Stage
  • Certificate การพัฒนานวัตกรรม จากEcole Marocaine Des Sciences De L’ Ingenieur,ประเทศโมรอคโค
  • รางวัลจากการแสดงและประกวดผลงานวิจัยภาคนิทรรศการ ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2562 (Thailand Research Expo 2019) ซึ่งในปีนี้มีหน่วยงานต่างๆ ส่งผลงานเข้าร่วมกว่า 200 ผลงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้จัดส่งในประเภทกลุ่มงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทก์การสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ในหัวข้อ “นวัตกรรมกรรมการผลิต แปรรูป ข้าวเหนียวหอมพันธุ์ กข-แม่โจ้ 2 ในระบบเกษตรอินทรีย์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ได้รับรางวัล ชมเชย จาก 4 ผลงานวิจัยในการจัดแสดงและประกวด ดังนี้
  1. 1. ผลงานเรื่อง “ข้าวพันธุ์ กข-แม่โจ้ 2 ข้าวเหนียวหอม ต้นเตี้ย ปลูกได้ทุกฤดู” ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์ใหม่ที่ใช้เวลาในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ 11 ปี จนได้ข้าวเหนียวมีกลิ่นหอมอ่อน เมล็ดเรียวยาว ต้นเตี้ย และไม่ไวต่อช่วงแสงสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ แสงทอง คณะวิทยาศาสตร์ และคณะ
  2. ผลงานเรื่อง “นวัตกรรมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกอง เพื่อเกษตรกรและชุมชน” เป็นการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ในระยะเวลาสั้น เพียง 2 เดือน สามารถช่วยลดแรงงานและต้นทุนการผลิต มีวิธีการและขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก โดยจะใช้วัตถุดิบจำพวกเศษพืช ฟางข้าว และมูลสัตว์เท่านั้น และได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของประเทศ ผลงานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนวัฒน์ นิทัศน์วิจิตร, อาจารย์ ดร.แสนวสันต์ ยอดคำ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีระพงษ์  สว่างปัญญางกูร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร
  3. ผลงานเรื่อง “Weather Station & Irrigation System” ระบบสถานีอากาศและการควบคุมการให้น้ำ เป็นระบบ สารสนเทศและอุปกรณ์การจัดเก็บข้อมูล โดยมีการทำงาน 4 ส่วน คือ 1)ส่วนสถานีอากาศเก็บข้อมูลทิศทางลม/ความเร็วลม/ปริมาณน้ำฝน 2)ส่วนอุปกรณ์เซ็นเซอร์วัดความชื้นในดินว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ 3)ส่วนกล้องอินฟาเรดจับภาพดูการสะท้อนรังสีอินฟาเรดจากต้นข้าวว่าได้รับความชื้นเหมาะสมหรือไม่ และ 4)ส่วนกล่องควบคุมการให้น้ำในนาข้าวที่ต่อกับระบบสูบน้ำซึ่งสามารถทำงานได้ทั้งระบบควบคุมน้ำด้วยตนเองและระบบสั่งผ่านซอฟต์แวร์ ซึ่งเกษตรกรสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประกอบการตัดสินใจได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น เป็นผลงานของ อาจารย์ ดร.สมนึก สินธุปวน คณะวิทยาศาสตร์
  4. 4. ผลงานเรื่อง “ผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องงอก สุกง่าย ไร้มอด และข้าวพองไร้น้ำมันทอด” เป็นกรรมวิธีการทำข้าว กล้องงอก หุงสุกง่าย ไร้มอด ปลอดกลิ่นหืน เริ่มจากนำข้าวเปลือกมากะเทาะเปลือกออกเป็นข้าวกล้อง ล้าง แช่น้ำ 4-6 ชั่วโมง บ่มเพาะให้งอกในที่ชื้นเป็นเวลา 18 ชั่วโมง นึ่งด้วยไอน้ำทำลายไข่มอด หยุดกลิ่นหืน จากนั้นทำแห้งเหลือความชื้น 14% จะเก็บไว้ได้นาน เป็นผลงานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเทือง โชคประเสริฐ, อาจารย์ ดร.พัตรเพ็ญ เพ็ญจำรัส มหาวิทยาลัยแม่โจ้ – แพร่ เฉลิมพระเกียรติ

โอกาสนี้  มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้มีพิธีมอบเกียรติบัตรให้แก่คณะนักวิจัยและทีมงาน เพื่อเป็นการแสดงความยินดีและสร้างขวัญกำลังใจ โดยได้รับเกียรติจาก โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.วีระพล ทองมา รักษาการแทนอธิการบดีแม่โจ้ เป็นประธานในพิธีมอบ  ณ  ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้  เมื่อวันที่  8 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “ ขอแสดงความชื่นชมยินดีกับผลงานวิจัยของทีมงานมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่ได้รับรางวัลแห่งความสำเร็จทั้งในระดับชาติและนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง ขอขอบคุณทีมงานและนักวิจัยทุก ๆ ท่าน ที่ทุ่มเทและมุ่งมั่นเพื่อมหาวิทยาลัย เราเชื่อมั่นว่าแม่โจ้จะมีนักวิจัยระดับชาติและนานาชาติเช่นนี้สืบต่อไป”

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น