มหัศจรรย์ล้านนาที่ลำพูน กับเทศกาลโคมแสนดวง

ภายใต้ความร่วมมือของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เทศบาลเมืองลำพูน สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานลำปาง กับการสร้างงาน สร้างอาชีพและกระจายรายได้ให้กับชุมชนผู้ผลิตโคมล้านนาหลากสีนำมาส่งต่อให้กับวัดและสถานศักดิ์สิทธิ์ในเมืองลำพูน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระธาตุเจ้าหริภุญชัย และถวายเพื่อเคารพสักการะพระนางเจ้าจามเทวีปฐมกษัตริย์แห่งเมืองลำพูนที่ถือเป็นแหล่งแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติมาเที่ยวชมความงดงาม พร้อมทั้งเขียนข้อความอธิษฐานขอพรลงบนโคม ก่อนจะนำไปแขวนไว้ตามจุดต่างๆ นับเป็นภาพสะท้อนความศรัทธาของชุมชนในเมืองบุญแห่งล้านนาของนครหริภุญชัย
เทศกาลโคมแสนดวงเป็นส่วนหนึ่งของงานประเพณีลอยกระทงหรือประเพณียี่เป็ง ซึ่งเป็นประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน จนเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ การถวายโคมเป็นพุทธบูชาต่อองค์พระธาตุเจ้าหริภุญชัยนั้น เป็นภาพสะท้อนถึงความศรัทธาต่อองค์พระธาตุเจ้าหริภุญชัย ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวลำพูนรวมไปถึงผู้ที่เกิดปีระกา และประชาชนทั่วไป เป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีล้านนา รวมถึงการถวายโคมเพื่อเคารพสักการะพระนางเจ้าจามเทวี ปฐมกษัตริย์ แห่งอาณาจักรหริภุญชัย
เมื่อถึงงานเทศกาลยี่เป็ง ชาวล้านนาจะนิยมประดับประดาตกแต่งบ้านเรือนให้สวยงามด้วยการจุดผางประทีปหรือประดับโคมไฟให้สว่างสดใสตลอดช่วงเทศกาล ชาวล้านนาเชื่อว่าการทำโคม เป็นการบูชาพระพุทธเจ้าที่ประทับ บนสรวงสวรรค์ และแสงประทีปจากโคมจะช่วยส่องประกายให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง อยู่เย็นเป็นสุข ทั้งนี้ เทศบาลเมืองลำพูน จึงร่วมกับชุมชนได้ทำการเตรียมโคมหลากสีสัน จำนวนกว่า 150,000 โคม ไว้รองรับนักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว และบูชาโคม พร้อมทั้งเขียนชื่อและข้อความอธิษฐานขอพรลงบนโคม แล้วแขวนตามจุดสถานที่ต่าง ๆ ที่ทางผู้จัดเตรียมไว้ เพื่อเป็นพุทธบูชา ให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง ร่วมถึงเป็นการสะเดาะเคราะห์ ตามความเชื่อของชาวล้านนา

ชุมชนจามเทวี เป็นหนึ่งในชุมชนที่มีการทำโคมกันอย่างแพร่หลาย ป้าประภาศรี วนิชกุล ประธานชุมชน จามเทวี กล่าวถึงเทศกาลโคมว่า โคมเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสวยงามและความศรัทธาของคนลำพูน นอกจากประโยชน์ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และกระจายรายได้ให้กับชุมชน จากการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามให้ข้อมูลและวางทิศทางเพื่อการพัฒนาอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการประดิษฐ์โคมและต่อยอดในการฝึกทักษะการทำโคมให้กับชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วย รวมถึงเด็กและเยาวชน ให้สามารถประดิษฐ์โคมเพื่อนำมาจำหน่ายในช่วงเทศกาล รวมถึงเป็นการสืบสานภูมิปัญญาในการประดิษฐ์โคมล้านนาที่มีหลากหลายรูปแบบ เช่น โคมธรรมจักร โคมดาว โคมไห โคมเพชร ฯลฯ โคมต่างๆเหล่านี้ ส่วนใหญ่ ใช้ ไม้ไผ่นำมาขึ้นโครง ติดกระดาษสาหรือผ้าดิบ ตัดลายกระดาษสีเงิน สีทอง ประดับตกแต่งลวดลายอย่างสวยงาม ในปัจจุบันโคมถูกนำไปใช้อย่างหลากหลาย เช่น ประดับตกแต่งโรงแรม รีสอร์ท วัด หรือสถานที่ต่างๆ เพื่อความสวยงาม เทศกาลโคม จึงไม่ได้แฝงแค่ความสวยงามของการท่องเที่ยว แต่ยังแฝงถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ยังคงมีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นทั้งเรื่องความเชื่อ ความศรัทธาและขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีที่ดีงามา

นยนพดล ภาคพรต รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. กล่าวถึงการจัดงานในครั้งว่า การประดับโคมแขวนหลากสีนับแสนๆดวง ณ สถานที่แห่งนี้ และบริเวณลานอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี รวมไปถึงวัดวาอารามต่างๆ และถนนสายหลักในจังหวัดลำพูนในครั้งนี้ เกิดจากแรงพลังศรัทธาที่ชาวประชามีต่อองค์พระธาตุหริภุญชัยและพระนางจามเทวี องค์ปฐมกษัตรีย์แห่งนครหริภุญชัย ที่สามารถตอบโจทย์การส่งเสริมการท่องเที่ยวสู่เมืองรองและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถขยายผลต่อการสร้างงาน สร้างอาชีพและกระจายรายได้ให้กับชุมชนผู้ผลิตโคมล้านนาหลากสีแล้วนำมาส่งต่อให้กับวัดและสถานศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดลำพูน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระธาตุเจ้าหริภุญชัย และสักการะพระนางเจ้าจามเทวีปฐมกษัตริย์แห่งเมืองลำพูนที่ถือเป็นแหล่งแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติมาเที่ยวชมความงดงาม พร้อมทั้งเขียนข้อความอธิษฐานขอพรลงบนโคม ก่อนจะนำไปแขวนไว้ตามจุดต่างๆ นับเป็นภาพสะท้อนถึงพลังความศรัทธาของทุกคนถึงแม้จะต่างที่มาแต่มีเป้าหมายเดียวกันในเมืองบุญแห่งล้านนาของนครหริภุญชัยอย่างแท้จริง รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ กล่าวเพิ่มเติมถึง การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ ททท. คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาร่วมถวายโคมทั่วจังหวัดลำพูนเกินกว่าเป้าที่กำหนดคือแสนดวง มีผู้มาเยือนจังหวัดลำพูนเกินกว่าจำนวนโคมเกือบเท่าตัว ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพและกระจายรายได้ให้กับชุมชนที่ทำโคมและทำสวยดอก(กรวยดอกไม้)ส่งให้กับวัดเพื่อให้พุทธศาสนิกชนบูชา ถือเป็นรายได้ ที่กระจายสู่ชุมชนตลอดห้วงการจัดงานในครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

นายอนันต์ สีแดง ผู้อํานวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สํานักงานลําปาง รับผิดชอบพื้นที่ลําปางและลําพูน กล่าวย้ำถึงงานมหัศจรรย์โคมแสนดวงที่ลำพูน อยู่ในปฏิทิน และแผนตลาดการท่องเที่ยว ปี 2562 ของ ททท.สำนักงานลำปาง ภายใต้กิจกรรม “10 มหัศจรรย์ล้านนาที่ลำพูน” โดยมหัศจรรย์โคมแสนดวง ที่ลำพูน ถือเป็นมหัศจรรย์ที่ 1 ที่ต้องการนำเสนอความสำคัญของโคมและสถานที่ศักดิ์และควรค่าแก่การเคารพ คือองค์พระธาตุเจ้าหริภุญชัย 1 ใน 8 จอมองค์เจดีย์ในสยาม และปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัยที่มีความรุ่มรวยมากว่า 1,300 ปี ททท.สำนักงานลำปาง องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน ได้จัดทำปฏิทินท่องเที่ยวโดยกำหนด 10 มหัศจรรย์ล้านนาที่ลำพูนพร้อมกำหนดวันที่แน่นอน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางมาร่วมกิจกรรม และสามารถวางแผนการเดินทางได้ล่วงหน้า อันจะนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการเดินทางเข้าสู่จังหวัดลำพูนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ กระจายพื้นที่ท่องเที่ยวรวมไปถึงการเพิ่มวันพำนักเฉลี่ย และที่สำคัญสามารถตอบโจทย์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองได้อย่างดียิ่ง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น