OTOP Backstreet Academy ส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิปัญญาย่านวัวลาย

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่จัดโครงการโรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา OTOP Backstreet Academy จังหวัดเชียงใหม่ย่านวัวลาย สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นแก่คนรุ่นหลัง

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคลังภูมิปัญญาเพื่อรวบรวมเรื่องราวภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ OTOP  อีกทั้งยังส่งผลต่อการดำรงรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมให้คงอยู่ในชุมชน ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจและหวงแหนภูมิปัญญาของท้องถิ่นตนเอง และเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นแก่คนรุ่นหลัง รวมถึงเป็น  การเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักแก่บุคคลทั่วไป สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น  เพื่ออนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และเสริมสร้างประสบการณ์ในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์    เพื่อพัฒนาทรัพยากรของชุมชนให้มีคุณค่า สร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชน สามารถจูงใจให้บุคคลทั่วไป ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้และท่องเที่ยวในหมู่บ้าน

  

เมื่อวันที่ 10 และ 11 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมาได้มีการจัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและสื่อมวลชน ได้ร่วมกิจกรรมในการเข้าชมและร่วมกิจกรรมของชุมชนเริ่มจากการเข้าร่วมพิธีสืบชะตา ซึ่งพิธีสืบชะตาเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของชาวล้านนาที่เชื่อกันว่าเป็นการ ต่ออายุหรือต่อชีวิตของบ้านเมืองหรือของคนให้ยืนยาว มีความสุข ความเจริญ ตลอดจนเป็นการขจัดภัยอันตรายต่างๆที่จะบังเกิดขึ้นให้แคล้วคลาดปลอดภัย อีกทั้งเชื่อว่าก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่การงานพร้อมที่ จะสู้กับชะตาชีวิตต่อไป ต่อจากนั้นได้ชมอุโบสถเงิน  ศาสนาสถานหลังแรกของโลก   ร่วมสร้างศิลป์แก่แผ่นดินถิ่นล้านนา ถวายไว้ในบวรพระพุทธศาสนา  เทิดไท้องค์ราชัน รัชกาลที่ ๙  โดยอาศัยมิติทางพระพุทธศาสนาบูรณา และมิติด้านการอนุรักษ์ทางภูมิปัญญาท้องถิ่น หัตถกรรมเครื่องเงิน บนถนนวัวลาย  โดยเริ่มจากการเข้าไปศึกษาและท่องเที่ยว การทำเครื่องเงินชุมชนศรีสุพรรณ มีการทดลองทำการต้องลายขึ้นรูปซึ่งเป็นความโดดเด่นของชุมชนศรีสุพรรณ

และการเยี่ยมชมวัดหมื่นสารและศึกษาประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์ทหารญี่ปุ่นที่รวบรวมเรื่องราวสมัยสงครามโลกรวมถึงความรู้พื้นบ้านเรื่อง ”ตุงล้านนา” “ตุง” ของล้านนา หากเปรียบกับภาคกลางก็ไม่ต่างจาก “ธง” ซึ่ง ตุง คือศิลปะ ที่มีพิธีกรรม และความเชื่อมาเป็นสิ่งเชื่อมโยงต่อกัน โดยมีผลต่อจิตใจของคนล้านนา วิถีดั้งเดิมที่งดงาม ที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ อันควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้คู่กับสังคมไทยสืบไป โดย “ตุง” มีขนาด รูปร่าง และรายละเอียดด้านวัสดุตกแต่งที่แตกต่างกันออกไปตามความเชื่อ และพิธีกรรมตลอดจนตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่นและพร้อมกันนี้ชาวเหนือยังมีจุดมุ่งหมายในการใช้ตุงเพื่อเป็นพุทธบูชามาอย่างช้านาน และยังเชื่อว่าการได้ถวายตุงเป็นการสร้างกุศลให้กับตนเอง แถมทั้งยังใช้ในการสะเดาะเคราะห์ขจัดภัยพิบัติต่างๆ ให้หมดสิ้น และ ตุง ยังเป็นการอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วอีกด้วย นอกจากนี้จุดมุ่งหมายในการใช้ตุงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการใช้เพื่อการเฉลิมฉลองศาสนสถาน ศาสนวัตถุ หรือสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์อีกด้วยสำหรับห้วงบรรยากาศของ “ปี๋ใหม่เมือง” หรือ “สงกรานต์” นั้น ตุงที่มีให้เห็นกันจนชินตา ก็จะเป็นตุง 12 ราศี หรือตุงไส้หมูเสียเป็นส่วนใหญ่ตุงไส้หมู มีลักษณะเป็นพวงประดิษฐ์ รูปร่างคล้ายจอมแหหรือปรางค์ ทำจากกระดาษสีหรือกระดาษแก้วสีต่างๆ อย่างน้อยแผ่นละสี มาวางซ้อนกันแล้วพับทแยงมุมหลายๆทบ ใช้กรรไกรตัดสลับกันเป็นลายฟันปลาจนถึงส่วนปลายสุด เมื่อคลี่ออก และจับหงายขึ้น จะเห็นเป็นพวงกระดาษที่สวยงาม ใช้สำหรับบูชาพระธาตุประจำปีเกิด และในประเพณีปี๋ใหม่เมือง ตุงไส้หมู จะถูกเตรียมขึ้นในวันดา โดยสล่าตัดตุงไส้หมู จะนำกระดาษสีต่างๆ มาตัดให้เป็นตุงไส้หมู แล้วนำไปผูกกับไม้ไผ่เหลาเป็นแท่งกลม หรือนำไปผูกกับก้าน “ต้นเขือง” เพื่อเตรียมไปปักยังเจดีย์ทรายภายในลานวัดใน “วันพญาวัน” หรือวันมหาสงกรานต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะตรงกับวันที่ 15 เมษายนของทุกปี โดยมีวิทยากรผู้มีความรู้ให้คำแนะนำและทดลองทำ

    

สำหรับกิจกรรมในวันที่ 11 เริ่มด้วยการนำคณะไปไหว้พระที่วัดนันทาราม มีการเล่าถึงประวัติความเป็นมาของชุมชน ความเป็นมาของวัด  เยี่ยมชมวัดนันทาราม  กิจกรรมเรียนรู้ภูมิปัญญาการขึ้นรูปเครื่องเขิน การอัดขี้เลื่อย การลงดินสอพอง และการทารัก การทำเครื่องเขิน เครื่องเขินนันทาราม มีโครงสร้างเป็นโครงสานลายขัดด้วยเส้นตอกไม้ไผ่ ที่มีการเหลาให้ได้ขนาดเล็ก เรียบบางคล้ายทางมะพร้าวสานขัดกับตอกเส้นบางแบนเป็นรูปแฉกรัศมีจากก้นของภาชนะ จนได้รูปทรงตามที่ต้องการ มีโครงที่แน่นแข็งแรง เรียบเสมอกันโดยตลอด เมื่อทารักสมุกแล้วขัด ก็จะได้รูปภาชนะที่ค่อนข้างเรียบ เกลี้ยงบาง และมีความเบา การตกแต่งเครื่องเขินชนิดนี้ มีลักษณะเด่นที่นิยมการขูดลาย หรือภาษาพื้นถิ่นเรียกว่า ฮายดอก หรือ ฮายลาย แล้วนำยางรักที่ผสมกับสีชาดถมลงไปในร่องที่กรีดไว้ เมื่อขัดแล้วจะมองเห็นเส้นลวดลายสีแดงฝังอยู่ในพื้นดำ ภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมของย่านวัวลายที่สืบทอดกันมากว่า 200 ปี ในชุมชนนันทาราม โดยมีปราชญ์ชาวบ้านที่คอยให้ความรู้และทดลองทำ ทำให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้มีส่วนรวมในการอนุรักษ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ให้หายไปและ หวงแหนภูมิปัญญาของท้องถิ่นตนเอง และเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นแก่คนรุ่นหลัง อีกด้วย

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายยุทธศาสตร์สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยมีเป้าหมายแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างการเติบโต จากภายในโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ สนับสนุนให้ชุมชนใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชุมชน โดยมีสถาบันการศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน และ ภาคประชาชน ผนึกกำลังร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP  ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP โดยรัฐพร้อมที่จะสนับสนุนให้ชุมชน เข้าถึงองค์ความรู้สมัยใหม่ แหล่งเงินทุน และพัฒนา   ขีดความสามารถในการบริหารจัดการและการตลาด เพื่อยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน เป็นที่ต้องการของตลาด และสามารถสร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่า และเชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น